ปัจจุบันภัยพิบัติทางธรรมชาติได้กลายเป็นภัยคุกคามร้ายแรง
ที่นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินแก่มวลมนุษยชาติอย่างมหาศาล เมื่อย้อนกลับไปไม่นานเราก็จะพบภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งเหตุภัยพิบัติเหล่านี้ส่งผลทั้งความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน และผลกระทบที่มีต่อสภาพจิตใจของผู้ที่รอดชีวิต ซึ่งหากจะตีเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจก็มีจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ในหลายกรณีผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติยังส่งแรงสะเทือนข้ามพรมแดนไปยังประเทศหรือภูมิภาคต่างๆที่อยู่รอบข้าง สร้างความตระหนักในมิติเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนนี้ทำให้ประเด็นเรื่องการป้องกันภัยธรรมชาติได้รับความสนใจจากนานาชาติมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมมือกันป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติในระดับโลก
ปัจจุบันการเจริญเติบโตและขยายตัวของชุมชนเมือง ทำให้สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายและเสื่อมโทรม นิเวศน์ทางธรรมชาติเสียสมดุล ด้วยเหตุดังกล่าวการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติจึงทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ประเทศไทยได้รับมือกับสาธารณภัย ซึ่งเป็นภัยพิบัติรุนแรงขนาดใหญ่ที่ผ่านมา การเตรียมการจัดการตามระบบและแผนที่มีอยู่นั้น ยังคงอาศัยการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นส่วนใหญ่ ทำให้หน่วยปฏิบัติจะต้องกำหนดแนวทาง วิธีการ ตลอดจนแผนต่างๆ ให้สอดคล้องโดยมีเป้าหมายสูงสุดให้การดำเนินการเพื่อรับมือ ตอบโต้ กับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน สามารถรองรับสถานการณ์ได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน เป็นระบบมีประสิทธิภาพ
การจัดทำระบบการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินจากภัยธรรมชาติ
มีเป้าหมายในการสร้างระบบข้อมูลสารสนเทศที่จะใช้ในการรับเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินโดยครอบคลุมทั้งสถานการณ์ก่อนการเกิดขึ้นของภัยพิบัติ สถานการณ์ระหว่างการเกิดเหตุของภัยพิบัติ สถานการณ์หลังการเกิดเหตุและการฟื้นฟูสภาพจากผลของภัยพิบัติ พัฒนาการวางแผนและฝึกฝนเพื่อการรับมือกับเหตุภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการให้ความช่วยเหลือต่อผู้ประสบภัยโดยข้อมูลแผนที่ที่ทันสมัยและให้รายละเอียดของข้อมูลประชากรศาสตร์ จำนวนครัวเรือน โบราณสถาน ลักษณะเฉพาะของตัวอาคารและข้อมูลโครงสร้างสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อการรับมือกับเหตุภัยพิบัติ
จากสถานการณ์ภัยพิบัติที่ผ่านมา พบว่าการช่วยเหลือและแก้ไขของหน่วยงานต่างๆยังคงมีปัญหา เนื่องจากประเทศไทยมีประสบการณ์ในการจัดการกับภัยพิบัติค่อนข้างจำกัด เนื่องจากในอดีตภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเป็นประจำมักเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล ซึ่งมักไม่รุนแรงมากนัก ดังนั้นการเตรียมการแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติของไทยจึงอยู่ในลักษณะของการตั้งรับ บนสมมติฐานว่าขอบเขตของความรุนแรงมีไม่มาก ระบบการเตรียมพร้อม การจัดการในสภาวะฉุกเฉิน การกู้ภัย และการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟู จึงยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการรองรับภัยพิบัติขนาดใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาที่ผ่านมาหลังจากที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยพิบัติขนาดใหญ่หลายครั้ง จึงเกิดความตื่นตัวในเชิงของนโยบายของรัฐ และมีการพัฒนากระบวนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้มีความก้าวหน้า ทันเหตุการณ์ และทั่วถึงมากขึ้น